ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ได้จัดตั้งขึ้นพร้อมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า “แผนกสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา” รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนวิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาแก่นิสิตแพทย์ปีที่ 5 และ 6 ของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเดิม  ในปี พ.ศ. 2505 เมื่อมีอาจารย์เพิ่มจึงมีการพัฒนาโดยการแบ่งอาจารย์ออกเป็น 5 สาย เพื่อรับผิดชอบการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์เป็นกลุ่มย่อย 5 กลุ่มโดยแบ่งหมุนเวียนไปตามการแบ่งสายการบริการ 5 วันทำงาน ได้แก่  การฝากครรภ์  การตรวจผู้ป่วยนรีเวชที่หอผู้ป่วยนอก  การให้บริการวางแผนครอบครัว  การดูแลห้องคลอดและผู้ป่วยฉุกเฉิน  และการผ่าตัด  ทำให้เกิดความสะดวกและเพิ่มประสิทธิผลในการเรียนการสอนกลุ่มย่อย และการสอนภาคปฏิบัติหลังจากการเรียนแบบบรรยายรวม ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 ได้มีพระราชกฤษฎีกาโอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แผนกสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา”  ระหว่างปี พ.ศ. 2519-2520 ได้จัดตั้งคณะกรรมการหลักสูตรของภาควิชาฯ ขึ้น จัดประชุมเขียนร่างหลักสูตรและได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มถาวรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2521 ถือเป็นหลักสูตรที่สมบูรณ์ฉบับแรกของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในปี พ.ศ. 2522 มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเป็นหลักสูตร 6 ปี  ภาควิชาฯ จึงปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนวิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เป็นวิชาสำหรับนิสิตแพทย์ปีที่ 5  ต่อมาเมื่อหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตได้รับการปรับเปลี่ยนให้มีวิชาเวชปฏิบัติสำหรับนิสิตแพทย์ปีที่ 6 วิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จึงเปลี่ยนไปเป็นวิชาสำหรับนิสิตแพทย์ปีที่ 4 และเพิ่มวิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา สำหรับเวชปฏิบัติสำหรับนิสิตแพทย์ปีที่ 6

ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวิทยาการที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีการปรับเปลี่ยนระยะเวลาและรูปแบบการสอนวิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาให้เข้ากับหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนั้นยังได้เข้าไป มีส่วนร่วมในการสอนนิสิตแพทย์ปีที่ 2-6 เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีส่วนร่วมในการสอนนิสิตแพทย์ในหลายรายวิชาในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้มีการผสมผสานของเนื้อหาแต่ละรายวิชาได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากความรับผิดชอบต่อการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี ภาควิชาฯ ได้ร่วมมือกับสมาคมสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย (ซึ่งต่อมาได้ยกระดับเป็นวิทยาลัย และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยตามลำดับ) และแพทยสภา  เปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อผลิตแพทย์ผู้ชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514  ได้ดำเนินการสอนและฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สามารถผลิตสูตินรีแพทย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับออกไปให้บริการแก่สังคมเป็นจำนวนมาก  และเพื่อให้การพัฒนาวิชาการทางการแพทย์ สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ  ทางภาควิชาฯ จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทยสภา เปิดหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด หรือ Fellowship training ในอนุสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540  เพื่อผลิตสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทางของสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา  ในการตอบสนองต่อความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และความต้องการบริการทางการแพทย์ของสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น  ปัจจุบันภาควิชาฯ สามารถฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดได้ครบทั้ง 3 หลักสูตร ประกอบด้วย อนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ อนุสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ และอนุสาขามะเร็งนรีเวช และในช่วงปลายปี พ.ศ. 2555 ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยได้ให้การอนุมัติหลักสูตรอนุสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม ภาควิชาฯ จึงดำเนินการให้มีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดในอนุสาขานี้เพิ่มขึ้นในปีการศึกษา 2556