ผศ.ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี ๒๕๕๗ สาขาวิทยาศาสตร์เคมี  กล่าวถึงผลงานวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกเซลล์สุริยะว่า สนใจการทำงานวิจัยด้านพลังงานทางเลือกมาเป็นเวลานาน เพราะน้ำมันมีปริมาณที่ลดน้อยลงทุกวัน  จึงได้เริ่มศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเก็บกักพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นพลังงานทางเลือก หลังจากนั้นได้รับทุนวิจัยและขยายผลไปในวงกว้างมากขึ้น การศึกษาวิจัยเรื่องเซลล์สุริยะมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของเซลล์สุริยะ มุ่งหวังที่จะพัฒนาเซลล์สุริยะให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การค้นหาสารประกอบตัวใหม่ๆ และหาเหตุผลว่าเซลล์สุริยะที่มีประสิทธิภาพสูงในปัจจุบันเกิดจากอะไร ซึ่งคำตอบเหล่านี้จะช่วยให้เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปตลอดเวลา

20141216_im01

ผศ.ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

 

ผศ.ดร.พัชณิตา กล่าวถึงการนำพลังงานเซลล์สุริยะไปใช้ในชีวิตประจำวันว่า ประเทศไทยมีการนำพลังงานเซลล์สุริยะมาใช้ในครัวเรือนมากขึ้น  ซึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนด้านนโยบายของภาครัฐทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานทางเลือกมากขึ้น ในส่วนของราคาการติดตั้งนั้นปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศทำให้มีราคาสูง  อนาคตมีแนวโน้มจะลดลง ขณะนี้องค์ความรู้ด้านพลังงานทางเลือกของประเทศไทยมีผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มากขึ้น  มีเครือข่ายนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านเซลล์สุริยะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบันควรจะขยายตัวไปสู่ภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณความต้องการและเพิ่มผลผลิตในเชิงธุรกิจ อีกด้านหนึ่งคือการพัฒนาเทคโนโลยีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ การวิจัยไม่ได้หยุดอยู่ที่การเก็บกักพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในรูปแบบของไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความคิดจะนำแสงอาทิตย์มาใช้แปรรูปวัตถุบางอย่างให้กลายเป็นเชื้อเพลิงได้ ซึ่งในส่วนนี้ต้องอาศัยการสนับสนุนโดยตรงจากหน่วยงานที่สนับสนุนด้านงานวิจัย พลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำมาดัดแปลงเป็นพลังงานรูปแบบอื่นได้มากมาย เช่น การผลิตไฮโดรเจนก๊าซ หรือที่เรียกว่า การผลิตอิเล็กตรอน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเคมี โดยพลังงานแสงอาทิตย์ถูกนำมาใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ในอนาคตจะมีประโยชน์อย่างมากในการะบวนการการผลิตต่างๆ  งานวิจัยอีกเรื่องที่ต้องการจะผลักดันให้สำเร็จให้ได้ คือ การหมุนเวียนเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นสารเคมีหรือเชื้อเพลิงที่เราสามารถนำมาใช้ได้จริงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในประเทศไทยมีความเหมาะสมมากสำหรับการเก็บกักพลังงาน แสงอาทิตย์  ปัจจุบันมีการพัฒนาให้แผงโซลล่าเซลล์มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับนำไปประกอบกับอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้โซลล่าเซลล์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ผศ.ดร.พัชณิตา กล่าวเพิ่มเติมว่าในอนาคตจะเร่งพัฒนางานวิจัยพลังงานเซลล์สุริยะให้มีประสิทธิภาพสูง โดยการบูรณาการความรู้ของนักเคมีและนักฟิสิกส์ เพื่อศึกษาการทำงานและมองหาปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของโซล่าเซลล์ อีกด้านหนึ่งคือภายในประเทศมีความต้องการที่จะสร้างคน สร้างเครือข่ายการศึกษาวิจัยด้านเซลล์สุริยะ เพื่อแลกเปลี่ยนนิสิตกับมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรปเพื่อความร่วมมือในระดับนานาชาติ  ในอนาคตแนวโน้มของการนำพลังงานทางเลือกมาใช้นั้นมีความจำเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่พลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น แต่จะต้องตระหนักในเรื่องของการพัฒนาเพื่อให้ผลิตใช้ได้เองภายในประเทศ เพราะการขยายตัวของประชากรจะสร้างภาวะของการแข่งขันด้านธุรกิจมากขึ้นและอาจจะนำไปสู่การแย่งชิงพลังงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศโดยรวม พลังงานทางเลือกจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาในประเทศของเรา


Category: News

Tags: ,